; อันตรายจากแมลงก้นกระดก พิษร้ายในฤดูฝน -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

อันตรายจากแมลงก้นกระดก พิษร้ายในฤดูฝน

อันตรายจากแมลงก้นกระดก พิษร้ายในฤดูฝน

        แมลงก้นกระดก (Rove beetles) หรือ  ด้วงก้นกระดก จะพบมากในช่วงฤดูฝน บริเวณที่ชื้น เช่น พื้นดิน ตามกองเศษพืชผัก เศษขยะ ตามสถานที่ที่มีต้นไม้ หรือเข้ามาตอมแสงสว่างบริเวณหลอดไฟในบ้าน  ลักษณะของแมลงก้นกระดกยาวประมาณ 7 – 10 มม. มีลำตัวเป็นปล้อง ๆ สีดำสลับส้ม ส่วนปลายหางจะแหลม  หากสัมผัสกับแมลงก้นกระดก ห้ามปัด หรือบดขยี้ ควรใช้วิธีเป่าหรือสะบัดออก   แมลงก้นกระดกนี้จะมีสารพิษที่เรียกว่า  Pederin   ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองเมื่อสัมผัสกับผิวหนัง โดยอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง

อาการที่พบทั่วไป ได้แก่

        - อาการบวม ผื่นแดง ตุ่มน้ำพุพองขนาดเล็ก รอยแผลมักจะเป็นเส้นเป็นริ้ว คล้ายงูสวัด
        - อาการคันและปวดแสบปวดร้อน

 

        ความรุนแรงของอาการจะมากน้อยแตกต่างกันไปแต่ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน  หากถ้าเกิดรอยแดงเพียงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ภายใน 2 – 3 วัน หากมีอาการผื่น ตุ่มน้ำพองมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ถูกวิธี

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

        - ล้างทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสโดนด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือล้างด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผล            - ประคบเย็นเพื่อลดอาการคัน อาการปวดแสบปวดร้อน
        - หลีกเหลี่ยงการเกา เนื่องจากจะเกิดการระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

วิธีการรักษา

        หากอาการเล็กน้อย เช่น ผื่นแดง แสบ ไม่มีตุ่มหนอง  ทายาลดอาการอักเสบที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์อ่อน ๆ ถ้ามีอาการมาก แผลลึก ตุ่มหนองมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการให้ยา

** เนื่องจากอาการนี้ผู้ป่วยมักจะเกิดความสับสนระหว่างโรคงูสวัดหรือติดเชื้อไวรัสเริม เพื่อความปลอดภัยและการรักษาที่ถูกวิธี ผู้ป่วยควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง**

วิธีการป้องกัน

        - หลีกเลี่ยงและตรวจเช็คบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการพบแมลงก้นกระดกก่อนเสมอ
        - ควรใช้ชุดป้องกัน เช่น สวมเสื้อแขนยาว ถุงมือ เมื่อต้องทำความสะอาดบริเวณพื้นที่เสี่ยง
        - รักษาความสะอาดบริเวณบ้าน ทิ้งสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บสะสม
        - ปรับแสงสว่างให้เหมาะสมกับบริเวณพื้นที่ภายในบ้าน เพราะแสงสว่างที่จ้าจะดึงดูดแมลงให้เข้ามา
        - ตรวจเช็คประตู หน้าต่าง มุ้งลวดให้ปิดสนิทเพื่อป้องกันแมลงบินเข้าไปภายในบ้าน

อ้างอิงข้อมูลจาก  สถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์